โครงการปลูกพืชอาหารช้างป่า กุยบุรี

โครงการปลูกพืชอาหารช้างป่า กุยบุรี บริเวณป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้ทรงพระราชทานไว้ว่า

“…ให้ปลูกสับปะรดที่คุณภาพไม่จำเป็นต้องดีนักสำหรับเป็นอาหารช้าง โดยที่ลูกค้าของสับปะรดคือช้าง และเพื่อให้ช้างและคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข ให้ชาวบ้านมาช่วยดูแลพืชอาหารช้าง พร้อมทั้งให้ค่าตอบแทนเขาด้วย…”

และเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้ทรงมี พระราชดำริดังนี้

“…ให้ดำเนินการจัดหาพื้นที่ปลูกพืชอาหารเพิ่มเติมให้แก่ช้างป่า…”

และจากแนวพระราชดำริดังกล่าว มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย จึงได้เสนอขออนุมัติเพื่อสนองพระราชปณิธานดังกล่าว ไปยังท่านแม่ทัพภาคที่ ๑ในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการและเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณของทางภาครัฐ มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย จึงได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการดังกล่าวโดยมีเนื้อที่รับผิดชอบประมาณ ๓๐๐ ไร่ ซึ่งเคยเป็นพื้นที่แปลงสับปะรดร้างในเขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ ซึ่งราษฎรได้เก็บเกี่ยวพืชผลและย้ายออกจากเขตไปหมดแล้ว อีกทั้งยังเป็นแนวกันชนที่ติดต่อไปยังเขตพื้นที่ของชาวบ้านซึ่งยังคงปลูกสับปะรดอยู่

เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาข้อพิพาทระหว่างคนกับช้างซึ่งพบว่าช้างป่าเกิดความเคยชินในการกินพืชไร่ของชาวบ้านจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนโดยการว่าจ้างชาวบ้านให้ดูแลและบำรุงพันธุ์สับปะรดที่มีอยู่เดิมโดยแบ่งระยะเวลาการดำเนินการโครงการออกเป็น ๓ ระยะ

ระยะที่ ๑ ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ปรับปรุงแปลงสับปะรดที่รกร้างให้เป็นอาหารธรรมชาติปรับปรุงบำรุงแหล่งโป่งธรรมชาติและจัดทำโป่งเทียมขึ้นอีกตามความเหมาะสม ดำเนินการศึกษาค้นคว้าวิจัยตามหลักวิทยาศาสตร์ถึงพฤติกรรมของช้างป่ากุยบุรีเพื่อการวางแผนการจัดการอย่างเหมาะสมในอนาคต

ระยะที่ ๒ ปีพ.ศ. ๒๕๔๓ ปลูกพืชอาหารช้างแซมในพื้นที่ ระหว่างไร่สับปะรดและปรับปรุงแหล่งโป่งธรรมชาติและโป่งเทียม และทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยต่อเนื่องถึงพฤติกรรมของช้างป่ากุยบุรี

ระยะที่ ๓ ปีพ.ศ. ๒๕๔๔ ปลุกพืชอาหารช้างและพันธุ์ไม้ซึ่งขึ้นอยู่ตามสภาพป่าธรรมชาติเพื่อทดแทนบริเวณที่ปลูกสับปะรด หลังจากที่สับปะรดเดิมหมดสภาพไปจนกว่าจะเต็มพื้นที่ปลูกป่าธรรมชาติ เป็นการเพิ่มปริมาณอาหารตามธรรมชาติของช้างป่าและสัตว์ป่าอื่นๆ ทำการปรับปรุงบำรุงแหล่งโป่งธรรมชาติและโป่งเทียม ทำการศึกษาวิจัยต่อเนื่องถึงพฤติกรรมของช้างป่ากุยบุรีและจัดเตรียมข้อมูลต่างๆ เบื้องต้นเพื่อเตรียมการประเมินผลและวางแผนจัดการเรื่องช้างป่ากุยบุรีต่อไปอย่างเหมาะสม