โครงการคุมกำเนิดลิงแสม เขาช่องกระจก

การควบคุมประชากรลิงแสม วัดเขาช่องกระจก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ลิงแสมที่เขาช่องกระจกได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นและเริ่มก่อให้เกิดปัญหาต่อชุมชน ต่อมาเมื่อปี ๒๕๔๕ ทางสำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จึงร้องขอความช่วยเหลือมายังมูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทยและทีมผ่าตัดจากโครงการคืนชะนีสู่ป่า ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่หน่วยงานต่างๆในจังหวัดขณะนั้นเล็งเห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ทำไมจึงต้องควบคุมประชากร

การเพิ่มจำนวนประชากรมนุษย์ส่งผลให้ผืนป่าธรรมชาติที่ลิงแสมเคยอยู่อาศัยลดน้อยลง อีกทั้งยังสูญสิ้นสัญชาตญาณของสัตว์ป่าไป วัดหรือปูชนียสถานจึงเป็นที่พึ่งแห่งสุดท้าย แต่ก็ไม่วายที่จะมีปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่ เนื่องจากลิงแสมแตกต่างจากลิงชนิดอื่นๆ นั่นคือเป็นสัตว์ที่ปรับตัวได้ดีในแทบทุกสภาพป่าของเมืองไทย และกินอาหารได้หลากหลายนับตั้งแต่สัตว์เล็กๆจนถึงพืชผักผลไม้ต่างๆ และสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว แม่ลิงที่กำลังเลี้ยงลูกอ่อนก็สามารถผสมพันธุ์และตั้งท้องใหม่ได้ จึงพบลิงแสมได้ทั่วไปแทบทุกภาค และเป็นลิงที่ก่อปัญหาต่อชุมชนมากกว่าลิงชนิดอื่นๆ อีกทั้งในชุมชนหรือวัดที่ลิงเหล่านี้อาศัยอยู่ก็ไม่มีศัตรูในธรรมชาติ เช่นงูเหลือมหรือเสือดาว ที่จะมาจับลิงกินเพื่อความคุมความสมดุลตามธรรมชาติ ประเทศต่างๆในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีลิงแสม (Macaca fascicularis) ชนิดนี้อาศัยอยู่ ต่างก็เผชิญกับปัญหาคล้ายคลึงกัน

สำหรับความหนาแน่นประชากรลิงแสมในธรรมชาติที่เคยศึกษาและรายงานไว้อยู่ที่ ๑๐-๔๐๐ ตัวต่อพื้นที่ ๖๒๕ ไร่ ส่วนเขาช่องกระจก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีลิงแสมอย่างน้อย ๕๐๐ ตัว แต่มีพื้นที่ประมาณ ๓๗ ไร่ ซึ่งถือว่ามีความหนาแน่นมากกว่าลิงในธรรมชาติถึง ๒๑ เท่า

 เทคนิคและวิธีการ

การจับลิงทำได้โดยใช้กรงดักขนาด ๒x๒x๒ เมตร ต่อเข้ากับกรงบีบ ส่วนการคุมกำเนิดเพื่อควบคุมประชากรลิงแสมใช้วิธีวาเซคโตไมซ์(vasectomize) โดยการตัดท่อนำอสุจิ ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกันกับที่ทำกันในมนุษย์ หลังผ่าตัดลิงตัวผู้จะมีกิจกรรมทุกอย่างรวมทั้งพฤติกรรมทางเพศเหมือนเดิมทุกประการ ลิงจ่าฝูงที่ทำวาเซคโตไมซ์แล้ว ยังสามารถผสมพันธุ์ได้ และยังคงดำรงสถานะจ่าฝูงต่อไป ซึ่งมีสิทธิเลือกผสมพันธุ์กับตัวเมียได้หลายๆตัว ส่วนตัวเมียที่มีมากเกินความสามารถของจ่าฝูงก็จะถูกผสมพันธุ์ โดยตัวผู้ที่มีสถานะต่ำลงมาตามลำดับ หรืออาจไปแอบผสมพันธุ์กับตัวผู้จากฝูงอื่น ดังนั้นการทำวาเซคโตไมซ์ให้ลิงจ่าฝูงหรือตัวผู้ที่รองๆ ลงมาจากจ่าฝูง หรือพยายามทำวาเซคโตไมซ์ให้ตัวผู้ที่มีอายุ ๓ ปีขึ้นไปให้ได้มากที่สุด จึงถือว่าเป็นการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว เพราะในอีก ๔ ปีข้างหน้า ลิงตัวผู้ที่อายุต่ำกว่า ๓ ปี ก็จะเติบโตขึ้นเป็นตัวเต็มวัยและสามารถผสมพันธุ์มีลูกได้ ดังนั้นจึงคาดว่าจะประสบความสำเร็จในการควบคุมจำนวนประชากรลิงแสม เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีเทคนิคหรือวิธีการใดที่ใช้ได้ผลดีและปลอดภัยต่อลิงที่มีความเป็นอยู่แบบกึ่งธรรมชาติเช่นลิงเขาช่องกระจก ดังนั้นโครงการนี้จึงถือเป็นโครงการนำร่อง

สรุปผลการดำเนินงาน

ใช้เวลาดำเนินงานสองเดือน คือระหว่างเดือนสิงหาคมและกันยายน ๒๕๔๕ สามารถทำหมันลิงตัวผู้จำนวน ๑๖ ตัว ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ จึงไม่สามารถควบคุมจำนวนประชากรได้ เนื่องจากการดำเนินงานขาดความต่อเนื่องเพราะข้อจำกัดด้านงบประมาณและบุคลากร อย่างไรก็ตามโครงการนี้ถือเป็นกรณีศึกษาเชิงวิชาการซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาวิธีการจัดการประชากรลิง โดยพบว่าลิงทุกตัวที่ได้รับการผ่าตัดสามารถกลับเข้าฝูงได้ทันทีหลังฟื้นจากฤทธิ์ยาสลบและไม่มีปัญหาแทรกซ้อนใดๆตามมา เช่น กรณีแผลอักเสบหรือติดเชื้อ นอกจากนี้ยังพบว่าลิงที่ผ่าตัดทำหมันด้วยวิธีการนี้สามารถดำรงสถานะและพฤติกรรมต่างๆในฝูงได้อย่างเป็นปกติ