โครงการร่วมอนุรักษ์เต่าทะเลจังหวัดระนอง

จากการที่ทรัพยากรธรรมชาติตลอดแนวชายฝั่งทะเลอันดามันได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทั้งจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างคลื่นยักษ์สึนามิ ความแปรปรวนของฤดูกาล ลมมรสุม ภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน ตลอดจนการพัฒนาในด้านต่างๆ โดยมนุษย์ เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การเดินเรือ การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก การปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ธุรกิจโรงแรมใหญ่ๆ มากมาย โครงการพัฒนาด้านพลังงานต่างๆ เช่นการผลิตไฟฟ้าและปิโตรเลียม รวมทั้งการทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้างสูง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำลายระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง อันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร แหล่งกระจายพันธุ์ของสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ทะเลหายาก อาทิ เต่าทะเล พะยูน โลมา วาฬ และในปัจจุบันสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้กำลังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว และหากไม่เร่งรีบดำเนินการช่วยเหลือและฟื้นฟูสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในไม่ช้า สัตว์เหล่านี้จะต้องสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยอย่างแน่นอน

 

ในปัจจุบันเกือบจะไม่มีเต่าทะเลให้เห็น เหลือเพียงแหล่งที่วางไข่ของเต่าทะเล เพียง 10 แห่งทั่วประเทศ ทั้งชายฝั่ง อ่าวไทย และอันดามัน และแหล่งที่เต่าวางไข่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลและเขตกองทัพเรือ ซึ่งอยู่ตามเกาะที่ห่างไกลจากชายฝั่ง เช่น หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน เกาะคราม เกาะกระดาษ สำหรับแหล่งที่เหลือบริเวณชายฝั่ง มีเพียงแค่หาดทะเลนอก และหาดประพาส จังหวัดระนอง เกาะระ เกาะพระทอง จังหวัดพังงา เขาหน้ายักษ์ อำเภอทับละมุ หาดท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา หาดไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล

 

ในการดำเนินโครงการนี้ทางโครงการบูรณาการธรรมชาติสู่สังคม (SNim) ร่วมกับมูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย (WARF) รวมทั้งอาสาสมัครทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มีแผนดำเนินการในปี 2551-2552 โดยจัดกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การสำรวจชายหาดเพื่อเฝ้าติดตามการขึ้นวางไข่ของเต่าทะเลในจังหวัดระนอง, การรณรงค์เผยแพร่ความรู้ในการอนุรักษ์เต่าทะเลให้กับชุมชนชายฝั่ง โรงเรียน และบุคคลทั่วไป และการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังป้องกันการลักลอบเก็บไข่เต่าทะเลไปขาย หรือบริโภค

และอีกกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญ คือ การสร้างคลินิกสัตว์ทะเล-สัตว์ป่า และบ่ออนุบาลขนาดมาตรฐาน เพื่อช่วยชีวิต อนุบาล และฟื้นฟูเต่าทะเลที่เจ็บป่วย เกยตื้น การบาดเจ็บจากสาเหตุใดๆ เช่น จากสัตว์ผู้ล่าในธรรมชาติ การติดอวน และเครื่องมือประมงอื่นๆ ก่อนพิจารณาปล่อยคืนสู่ทะเลต่อไป ส่วนเต่าทะเลที่ไม่สามารถปล่อยได้ เช่น สุขภาพอ่อนแอ ชราภาพ หรือพิการ ฯลฯ จะได้รับการอนุบาลไว้เป็นตัวอย่างมีชีวิต เพื่อการศึกษาวิจัย เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เรื่องราวชีวิตเต่าทะเล รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแก่ผู้สนใจ

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการสร้างเครือข่ายชุมชนกับการอนุรักษ์เต่าทะเลจังหวัดระนอง และการจัดกิจกรรมค่ายเยาวชน เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเต่าทะเล, การเปิดรับอาสาสมัครร่วมเดินสำรวจเต่าทะเลวางไข่, การฟื้นฟูแหล่งวางไข่เต่าโดยการจัดกิจกรรมเก็บขยะ และปลูกป่าชายหาด และการจัดงานวันอนุรักษ์เต่าทะเลจังหวัดระนองพร้อมกับการปล่อยลูกเต่า โดยหวังว่ากิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นจะช่วยในการ

อนุรักษ์เต่าทะเลของจังหวัดระนองและของประเทศให้คงอยู่ ก่อนที่จะไม่มีเต่าทะเลในพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดระนองต่อไปในอนาคต ตลอดจนเป็นการช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชายฝั่งบริเวณแหล่งวางไข่เต่าทะเล รวมทั้งป้องกันการทำประมงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตเต่าทะเล และสัตว์น้ำที่อาศัยในบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นการช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำทั้งหลายในชายฝั่งทะเลจังหวัดระนองอีกทางหนึ่ง